กิจกรรมวันไหว้ครู ปีการศึกษา 2567
วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ได้จัดพิธีไหว้ครู ปีการศึกษา 2567 ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวไทย เพราะครูเป็นคนที่ศิษย์ให้ความเคารพนับถือ เป็นผู้ถ่ายทอดสรรพวิชาความรู้ให้กับศิษย์ด้วยความรัก ความเมตตา และความปราถนาดี "ครู" จึงเป็นบุคคลผู้ทำหน้าที่ที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ เมื่อครั้งอดีต หนังสือหรือสื่อการเรียนการสอนยังไม่มีแพร่หลาย ความรู้ที่ประชาชนจะได้รับ คือความรู้ที่มาจากบุคคลผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ซึ่งเราเรียกกันว่า "ครู"
ความสำคัญพิธีไหว้ครู คือ การที่ศิษย์แสดงความเคารพ ยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจว่า ท่านเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตัวรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เพื่อให้บรรลุปลายทางแห่งการศึกษาตามที่ตั้งใจเอาไว้ ซึ่งการไหว้ครูนี้ นอกจากจะเป็นธรรมเนียมอันดีงามที่มีส่วนโน้มน้าวจิตใจคนให้รักษาคุณความดี และช่วยธำรงรักษาวิทยาการให้สืบเนื่องต่อไปแล้ว การที่ศิษย์แสดงความเคารพยอมรับนับถือครูตั้งแต่เบื้องต้น ก็มีส่วนทำให้ครูเกิดความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ อยากมอบวิชาความรู้ให้อย่างเต็มที่ และศิษย์เองก็จะมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด เกิดมั่นใจว่าตนจะมีผู้คุ้มครองดูแล สั่งสอนให้ไปสู่หนทางแห่งความดีงาม และความเจริญก้าวหน้าแน่นอน
ครูมีหน้าที่ต่อศิษย์ ตามหลักธรรมอยู่ 5 ประการคือ
- แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี
- สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
- สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
- ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ
- สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ สอนฝึกให้สามารถใช้วิชาเลี้ยงชีพและรู้จักดำรงรักษาตนในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยดี
พิธีไหว้ครูในโรงเรียน และดอกไม้ไหว้ครู
โดยปกติสถานศึกษามักจัดพิธีไหว้ครูขึ้นในวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 2 หรือวันใดวันหนึ่งในราวเดือนมิถุนายน ดอกไม้ที่ใช้ในการไหว้ครู ในพิธีไหว้ครูนับตั้งแต่สมัยก่อน จะใช้ดอกไม้ในการทำพาน ซึ่งดอกไม้ความหมายในการระลึกคุณครู ได้แก่
หญ้าแพรก สื่อถึง เป็นหญ้าที่เติบโตเร็วและทนต่อสภาพดินฟ้า อากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ซึ่งเปรียบเสมือน คำดุด่าของครูบาอาจารย์ เมื่อได้รับการสั่งสอนก็พร้อมจะเรียนรู้ เหมือนดังหญ้าแพรกที่แม้บางครั้งจะเหี่ยวเฉาไป แต่เมื่อใดที่ได้รับน้ำก็พร้อมจะเติบโตทันที
ดอกเข็ม สื่อถึง สติปัญญาเฉียบแหลม เหมือนชื่อของดอกเข็ม
ดอกมะเขือ สื่อถึง มะเขือนั้นจะคว่ำดอกลงเสมอเมื่อจะออกลูก แสดงถึงนักเรียนที่จะเรียนให้ได้ผลดีนั้นต้องรู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เหมือนมะเขือที่โน้มลง และดอกงอกงามได้อย่างรวดเร็ว
ข้าวตอก สื่อถึง ความรู้ที่แตกฉาน เพิ่มพูนอย่างรวดเร็ว เหมือนลักษณะของข้าวสาร เปรียบได้กับการที่ครู “คั่ว” นักเรียนคนใดคนหนึ่ง กล่าวคือ “คั่ว”คือการเคี่ยวเข็ญ ว่ากล่าวตักเตือน อบรมสั่งสอนนั่นเอง วิชาความรู้ของนักเรียนเหล่านั้นจะ “แตก” ฉานสามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้